Views: 3
Resource – https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000105231
เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) หรือเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม โดยการพัฒนาให้เป็นเมือง หรือพื้นที่ซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความเชื่อมโยงของนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือชุมชนอุตสาหกรรมกับกลุ่มโรงงาน องค์กร หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนโดยรอบ เพื่อให้เจริญเติบโตไปด้วยกันนั้น
เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดงานสัมมนาสรุปผลการดำเนินโครงการ และสนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่เมืองสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ปรากฎว่าผลงานในปีนี้ มีพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศยกระดับได้ตามเป้าหมายกว่า 18 พื้นที่ ใน 15 จังหวัด เขตประกอบการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 1 แห่ง สวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 3 แห่ง รวมทั้งโรงงานในพื้นที่เป้าหมายผ่านเกณฑ์การพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานกว่า 100 โรงงาน
https://www.facebook.com/plugins/video.php?height=314&href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2FGreenandSDManager%2Fvideos%2F301705671512232%2F&show_text=false&width=560&t=0
ในคลิปนี้ แสดงให้เห็นแนวคิดของการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมและชุมชนโดยสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนในท้องถิ่น
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การจัดงานสรุปผลการดำเนินงานพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ผ่านมา มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ให้แก่พื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเมืองนิเวศ (Eco Industrial Town : EIT) จำนวน 18 พื้นที่ใน 15 จังหวัด เขตประกอบการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Zone : EIZ) จำนวน 1 แห่ง และสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Park : EIP) จำนวน 3 แห่ง เป็นการยืนยันความสำเร็จของการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 5 การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมติคณะรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนพื้นที่เป้าหมายสู่การเป็น “เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม” ครบทั้ง 5 มิติ คือ มิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ในพื้นที่รวมทั้งประเทศ จำนวน 39 จังหวัด 53 พื้นที่ เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและโรงงานอย่างยั่งยืน ตามแผนงานการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระยะ 20 ปี ของกระทรวงอุตสาหกรรม
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า “กรอ. ยังคงเดินหน้าพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ มีเมืองผ่านเกณฑ์การพัฒนาระดับที่ 4 (การพึ่งพาอาศัย) จำนวน 4 พื้นที่ ระดับที่ 3 (ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร) จำนวน 5 พื้นที่ และอีก 9 พื้นที่ ผ่านเกณฑ์การพัฒนาระดับที่ 2 (การส่งเสริม) อีกทั้งยังมีเขตประกอบการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวม 4 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์การพัฒนาในระดับที่ 5 (เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด